ความหมายของ “บุญ” และ “ทาน”
     คำว่า “บุญ” แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เป็นเครื่องกำจัดกิเลส อันเป็นสาเหตุของทุกข์ออกไปจากจิตใจ

     ส่วนคำว่า “ทาน” แปลว่า การให้ การสละแบ่งปันผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้สิ่งของ (วัตถุทาน) การไม่ถือโกรธยกโทษให้ (อภัยทาน) การให้ปัญญาเพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต (ธรรมทาน) ก็จัดเป็นการให้ทานทั้งสิ้น

     พุทธศาสนาถือว่า “การให้” หรือการเสียสละเป็นการกำจัดกิเลสทางหนึ่ง ที่จะเป็นกุญแจไขไปสู่จิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้นขอเพียงเป็นการให้ทานที่บริสุทธิ์และดีงามก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น

 .

การทำบุญกับการทำทานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
     ถ้ามองไปถึงที่สุดต้องถือว่าคล้าย ๆ กัน แต่ที่ใช้แยกเป็นทำบุญทำทาน เพราะเป็นนัยว่า ถ้าทำบุญจะเป็นการทำกับผู้ที่มีสถานะสูงกว่ามีคุณธรรมสูงกว่า เช่น ทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ส่วนการทำทานมีนัยในเชิงว่าเป็นการทำทานทั่วไป เห็นคนลำบากยากจนก็ไปช่วยกัน ก็เลยเรียกว่าเป็นการให้ทาน อย่างนี้เป็นต้น แต่จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นการให้กับใครก็ได้บุญ ทั้งนั้น จะได้มากหรือน้อยแล้วแต่กรณี

 .

บุญกับทาน ต่างกันอย่างไร ควรเลือกทำแบบใดจึงจะมีผลมาก
     แท้ที่จริงแล้ว ทานก็เป็นบุญชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ว่า บุญก็อย่างหนึ่ง ทานก็อย่างหนึ่ง ดังนั้น ทานก็ไม่ได้แยกไปต่างหากจากบุญ เป็นเพียงประเภทหนึ่งในบรรดาบุญ 10 ประการของบุญเท่านั้น

บุญ 10 อย่างนั้น ได้แก่

1. “ทานมัย” คือ การให้ การบริจาค การแบ่งปัน
2. “สีลมัย” คือ ความไม่ประพฤติละเมิด ไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีการสำรวมทางกาย และการสำรวมทางวาจา เป็นสำคัญ
3. “ภาวนามัย” คือ การอบรมจิตทางสมถะ และทางวิปัสสนา เรียกว่า สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
4. “อปจายนมัย” คือ ความเป็นผู้นอบน้อมต่อบุคคลที่ควรนอบน้อม
5. “เวยยาวัจวมัย” คือ ความขวนขวายในกิจที่ควรทำ
6. “ปัตติทานมัย” คือ การให้บุญที่ตนทำแล้ว ให้แก่ผู้อื่น
7. “ปัตตานุโมทนามัย” คือ อนุโมทนายินดีในบุญที่ผู้อื่นเขาทำแล้ว
8. “ธัมมัสสวนมัย” คือ การฟังธรรม
9. “ธัมมเทสนามัย” คือ การแสดงธรรม “
10. ทิฏฐุชุกรรม” แปลว่า การทำความเห็นให้ถูกต้อง คือ สัมมาทิฐิ

การทำทานมี 4 ประเภทคือ

1) อามิสทาน ได้แก่ การให้วัตถุสิ่งของต่างๆ
2) วิทยาทาน ได้แก่การให้ความรู้ทางโลกแก่บุคคลอื่น
3) ธรรมทาน ได้แก่ การให้ความรู้ทางธรรม
4) อภัยทาน ได้แก่ การให้อภัยซึ่งกันและกัน

 .

อานิสงส์ในการทำบุญทำทานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
     ถ้าหากจะทำบุญให้ได้บุญเยอะ จะทำทานให้ได้บุญมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าต้องประกอบด้วยบริสุทธิ์ ๓ ประการ คือ

     ๑. วัตถุบริสุทธิ์ คือ ได้ทรัพย์มาด้วยความถูกต้อง ไม่ได้ทุจริตฉ้อโกงใครมา

     ๒. เจตนาบริสุทธิ์ คือ ตัวเราเองทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ มีศรัทธาเต็มเปี่ยม

     ๓. บุคคลบริสุทธิ์ คือ บุคคลที่เราให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ยิ่งมีศีลมีคุณธรรมสูงเท่าใด เราก็ได้บุญมากไปตามส่วน

     ท่านจึงเปรียบพระภิกษุเหมือนเนื้อนาบุญ ใครทำนาบนเนื้อนาดีย่อมได้รับผลตอบแทนดี ข้าวก็ออกเต็มรวง ถ้าเป็นนาดอนแห้งแล้งไม่มีปุ๋ย ก็ได้ผลผลิตแค่นิด ๆ หน่อย ๆ ท่านเปรียบอย่างนั้น บริสุทธิ์ ๓ เมื่อไรได้บุญมาก

Contact Us


09.00 – 17.00
วันจันทร์ - วันศุกร์

WBGF © 2024. All Rights Reserved.