Composition

 

          เบื้องต้นของการตักบาตร ต้องเตรียมใจให้ผ่องใสเป็นกุศล เปี่ยมด้วยความเต็มใจ บุญจะได้บังเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มคิด ขณะทำก็ไม่นึกเสียดาย ให้มีใจเป็นสุข หลังจากให้ไปแล้วก็ปลื้มปีติยินดีในทานนั้น ไม่นึกเสียดายในภายหลัง บุญกุศลจึงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเตรียมใจให้พร้อม ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะบุญที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของผู้ถวายแนะนำให้รักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ขณะ คือ
          ๑. ก่อนถวาย ตั้งใจเสียสละอย่างแท้จริง
          ๒. ขณะถวาย ก็มีใจเลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ
          ๓. หลังจากถวายแล้ว ต้องยินดีในทานของตัวเองจิตใจเบิกบานเมื่อนึกถึงทานที่ตนเองได้ถวายไปแล้ว การทำใจให้ได้ทั้ง ๓ ขณะดังกล่าวนี้ นับว่ายากมาก เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองในขณะใดขณะหนึ่งได้

 

           ในการเตรียมของตักบาตร เช่น ข้าวสารอาหารแห้งหรือคาวหวาน ถ้าของสดพึงระวังอย่าให้ข้าวและอาหารนั้น ๆ ร้อนหรือเย็นจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดความลำบากแก่พระภิกษุหรือสามเณร ที่ต้องอุ้มบาตรต่อไปในระยะทางไกล 

           สิ่งของที่ถวาย จะต้องได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน และที่สำคัญคือสิ่งนั้นต้องเหมาะสมแก่พระภิกษุสามเณรด้วย

           1. สิ่งที่จะนำมาใส่บาตร เป็นสิ่งของที่เป็นกับปิยะ เช่น ควรเป็นอาหาร เพื่อให้พระฉันได้ เช่น ข้าวสุก กับข้าวที่ปรุงสุกแล้ว อาหารที่ใส่ควรเป็นอาหารที่มีประโชน์ต่อร่างกาย

           2. ห้ามตักบาตรด้วยเนื้อสัตว์ที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาพุทธ เรียกว่า มังสัง 10 อย่าง ได้แก่ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี และเสือดาว

           ถ้าอยากตักบาตรให้ได้บุญ ต้องถวายอาหารที่ปรุงจากอาหารสดในฤดูกาล ไม่ใช้น้ำมันปรุงอาหารมาก ถ้าจะซื้อที่ปรุงสำเร็จรูปแล้ว ต้องเลือกกับข้าวที่ไม่มัน มีผัดหนึ่งอย่าง ควรเลือกต้มจืดอีกสักอย่าง อาหารผัดมีน้ำมันแล้ว ต้มจืดจะมีไขมันน้อยหน่อย ผักน้ำพริกเป็นอาหารที่มีประโยชน์และอร่อยด้วย แต่ไม่ค่อยมีคนใส่บาตร

           นอกจากอาหารคาว ควรถวายผลไม้และเครื่องดื่มด้วย กล้วยไข่ไม่ช้ำง่าย เก็บไว้ได้นานกว่ากล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ถ้าจะใช้ผลไม้อื่น ๆ ต้องให้พระท่านฉันได้ง่าย ๆ และไม่ค่อยช้ำ
นม โยเกิร์ต เต้าหู้ นมถั่วเหลือง มีบรรจุกล่องขายสำหรับดื่มได้ในหนึ่งมื้อเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มาก และปลอดภัยจากเชื้อโรค เป็นแหล่งโปรตีนสูง มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวช่วยลดโคเลสเตอรอลได้

 

           1. ในขณะที่รอตักบาตรนั้น ให้ทำจิตใจให้เป็นบริสุทธิ์ ไม่ควรที่จะนำเรื่องทุกข์ใจมาคิดมากในตอนนั้น

           2. ในขณะที่รอตักบาตรนั้น ให้ตั้งใจว่าจะตักบาตรแด่พระสงฆ์ สามเณร รูปใดก็ได้ ไม่จำเพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง หรือถูกใจใส่รูปนี้ ไม่ใส่รูปนั้น การไม่จำเพาะเจาะจง เรียกว่า “สังฆทาน” พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่ามีผลมาก

           3. บุญที่มีอานิสงส์มาก จิตใจของผู้ให้ทานต้องเบิกบาน ยินดีในทานที่ให้ ทั้งก่อนทำ ขณะทำ และหลังทำ ฉะนั้นระหว่างรอตักบาตร ไม่ควรคิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ควรมีใจจดจ่อกับทานที่กำลังจักให้

           4. ไม่ควรใส่หมวก ผ้ามัดเอว ผ้าโพกหัว

           5. ไม่ควรถือพร้า ค้อน หรืออาวุธอื่น ๆ ถ้ามีควรวาง หรือเก็บไว้ที่อื่นก่อน

           6. แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย ผู้หญิงควรสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด คอเสื้อไม่คว้านลึก และบางจนเกินไป

 

          โดยปกติ พระภิกษุสามเณรจะเดินเรียงลำดับอาวุโสไปบิณฑบาตตามละแวกบ้าน เมื่อถึงหมู่บ้านที่ชาวบ้านกำลังรออยู่ ก็จะยืนเรียงเป็นแถว แต่ในกรุงเทพฯ หรือในบางจังหวัด พระภิกษุสามเณรมักไปตามลำพัง ไม่ได้เดินเรียงแถว ทั้งนี้เพราะพระภิกษุสามเณรในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมากจึงไม่สะดวกที่จะเดินเรียงแถวกันไป และผู้ที่จะนำอาหารมาตักบาตรได้ไม่ครบทุกรูป การตักบาตรเป็นสังฆทาน คือการถวายโดยไม่เจาะจง จึงควรตั้งใจว่าจะทำบุญตักบาตรแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรในพระพุทธศาสนาโดยไม่เจาะจงว่าเป็นรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อพระภิกษุสามเณรรูปใดผ่านมาก็ตั้งใจตักบาตรแก่พระภิกษุสามเณรรูปนั้นและรูปอื่นๆ ไปตามลำดับ

           1. นำอาหารที่เตรียมตักบาตร มาตั้งจิตถวายด้วยการยกขึ้นจบ คือ ยกขึ้นสูงระดับหน้าผาก ด้วยท่าประนมมือโดยอนุโลม อธิษฐานตั้งความปรารถนา เพื่อทำกิเลสให้ลดน้อยลงจนถึงหมดสิ้นไป

           2. ขณะตักบาตรควรถอดรองเท้าเพื่อเป็นการให้ความเคารพแด่พระสงฆ์

           3. การนิมนต์พระควรนิมนต์ด้วยความสำรวม และใช้เสียงดังพอประมาณ ควรใช้คำว่า “นิมนต์ครับ/นิมนต์ค่ะท่าน”

           4. ขณะที่ตักบาตร ควรอยู่ในอาการสำรวมและเคารพ

           5. ของที่ใส่บาตรไม่ควรร้อนมากจนเกินไป เพราะบาตรพระทำจากโลหะ นำความร้อนได้ดี ปริมาณไม่ควรมากจนเกินไป การใส่ก็ควรวางในบาตรด้วยอาการสำรวม

           6. เมื่อตักบาตรเสร็จแล้ว ควรแสดงความเคารพด้วยการไหว้

 

          เมื่อให้เสร็จแล้วพระจะให้พร คนที่ตักบาตรประนมมือรับพร (โดยปกติแล้วจะนิยมคุกเข่าหรือนั่งยอง ๆ ประนมมือ ซึ่งผิดตามพระธรรมวินัย เพราะจะทำให้พระอาบัติ) ขณะที่ให้พรคนที่ตักบาตรอาจจะมีการกรวดน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ (การกรวดน้ำนั้นอาจจะทำขณะที่พระให้พรหรือหลังจากการตักบาตรเสร็จสิ้นก็ได้) หลังจากที่พระภิกษุให้พรแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี

 

 

 

คำกล่าวก่อนตักบาตร


ยกอาหารขึ้นเหนือศีรษะแล้วกล่าวว่า
“สุทินนัง วะตะเม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ”
ทานที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้วนี้ จงเป็นเครื่องนำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลสเถิด

          หรือจะกล่าวเป็นภาษาไทยง่าย ๆ คือ “ข้าวขาวเหมือนดอกบัวยกขึ้นทูนหัวตั้งจิตจำนง ตักบาตรพระสงฆ์ขอให้ทันพระศรีอารย์ (นี้ตั้งความปรารถนาพบพระพุทธเจ้าพระองค์หน้า) ขอให้พบดวงแก้วขอให้แคล้วบ่วงมาร ขอให้บรรลุนิพพานในอนาคตกาลเทอญ”


คำกล่าวหลังตักบาตร

นัตถิเม สะระนัง อัญยัง สังโฆเม สะระณังวะรัง
เอเตนะสัจจะวัชเชนะ โสตถิเม โหตุ สัพพะทา.

สรณะอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นสาระณะอันประเสริฐของข้าพเจ้า
ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ขอให้ข้าพเจ้าเจริญในพระศาสนาของพระศาสดา


คำกรวดน้ำหลังตักบาตรสั้น ๆ

          กรวดน้ำหลังตักบาตรหรือทำบุญ!!! ชาวพุทธโชคดีที่พระพุทธศาสนาสอนวิธีทำบุญและอุทิศบุญ โดยเฉพาะกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้

         อิทัง เม ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหตุ ญาตะโย

          ขอบุญทั้งหลายจงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ขอบุญทั้งหลายให้แก่คู่กรรมคู่เวรของข้่าพเจ้า ที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินท่านทั้งหลาย ตั้งแต่อดีตชาติถึงปัจจุบันชาติ ท่านจะอยู่ภพใดภูมิใดก็ตาม ขอให้ท่านมารับแล้วอโหสิกรรมอดโทษให้แก่ข้าพเจ้า ไม่ตามจองล้างจองผลาญจองเวร ซึ่งกันและกันตลอดไปและอนุโมทนาบุญกลับมาหาข้าพเจ้าด้วยอำนาจบุญนี้ด้วยเถิด

 

Contact Us


09.00 – 17.00
วันจันทร์ - วันศุกร์

WBGF © 2024. All Rights Reserved.