เกี่ยวกับการตักบาตร

ความหมายตักบาตร

การตักบาตร คือประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล พระภิกษุจะถือบาตรออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมาตักบาตรจะนำของทำทานต่างๆ เช่น ข้าว อาหารแห้ง มาถวายพระ

ประเพณีนี้ชาวพุทธถือกันว่าเป็นการสร้างกุศล และถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย โดยเชื่อกันว่าอาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับอีกด้วย

ตักบาตร เป็นลักษณะ ของกิริยาตักข้าวใส่ลงในบาตร แต่หลัง ๆ มีคำว่า ใส่บาตร ขึ้นมา เรียกตามกิริยาที่เราเอาอาหารถุง ใส่บาตรโดยไม่ต้องตัก ก็เลยใช้คำว่าใส่บาตรแทน ทั้งคำว่าตักบาตรและใส่บาตรใช้ได้ทั้ง ๒ คำ เพราะ เราเข้าใจตรงกันว่าเป็นการนำอาหารไปถวายในบาตร พระที่ท่านมาบิณฑบาตตอนเช้า

บาตรเป็นภาชนะจำเป็นของพระภิกษุจะขาดเสียมิได้ นับเข้าในจำนวนบริขารอย่างหนึ่งในบริขาร 8 ตามปกติพระจะไปอยู่ที่ใด ต้องมีบาตรประจำตัวไปด้วย และการออกบิณฑบาตก็ออกในเวลาเช้า ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าองค์ ทรงบำเพ็ญเป็นพุทธกิจประจำวัน

วัตถุประสงค์

  • 1. เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำบุญ เพราะการสั่งสมบุญเป็นเหตุนำความสุขมาให้.
  • 2. ส่งเสริมสถาบันครอบครัว ให้ พ่อแม่ ลูก มีกิจกรรมที่สร้างความอบอุ่น โดยมาทำบุญใหญ่ร่วมกัน ปลูกฝังศีลธรรมให้กับ เยาวชน และ ประชาชนทั่วไป.
  • 3. เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
  • 4. การตักบาตรเป็นการถวายกำลังแก่พระภิกษุในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ถ้าญาติโยมใส่บาตร พระก็จะมีอาหารมาบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีกำลังในการบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป.
  • 5. เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ส่งเสริมวัฒนธรรมชาวพุทธให้เข้มแข็ง สืบสานอริยะประเพณี การตักบาตร ให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป.

ที่มาการตักบาตร

        การทำบุญตักบาตรนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ ๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงประทับที่สวนมะม่วง พระองค์เสด็จบิณฑบาตผ่าน กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาตก็ชวนกันนำอาหารมาตักบาตรเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมาการตักบาตรจึงถือเป็นประเพณีมาจนบัดนี้ และเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้เกด มีพ่อค้า ๒ คน นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร นี่ก็เป็นที่มาของการตักบาตรทางพระพุทธศาสนาด้วยประการหนึ่ง

ประโยชน์ที่ได้รับ


อานิสงส์ของการตักบาตร “กากวฬิยเศรษฐี”

        ในกรุงราชคฤห์ มีคนเข็ญใจคนหนึ่งชื่อว่า กากวฬิยะ อาศัยอยู่กับภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก อดมื้อกินมื้อ มีอาชีพรับจ้างเพื่อแลกกับอาหารไปวันๆ แต่ทั้งสองเป็นผู้มีจิตใจงดงาม และพอมีบุญเก่าอยู่บ้าง

        วันหนึ่ง พระมหากัสสปเถระออกจากนิโรธสมาบัติ เห็นภรรยาผู้มีจิตใจงดงามของนายกากวฬิยะเข้ามาในญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์ จึงออกบิณฑบาตไปโปรด โดยยืนที่หน้าประตูบ้านของกากวฬิยะ เมื่อภรรยาของเขาเห็นพระเถระมาโปรด นางเกิดความเลื่อมใส จึงถวายข้าวยาคูกับนํ้าผักดองที่เตรียมไว้ให้สามีใส่ลงในบาตรของพระเถระจนหมด ฝ่ายกากวฬิยะเห็นภรรยาถวายข้าวยาคูแด่พระเถระจนหมด ก็อนุโมทนาด้วยความปีติเลื่อมใสในพระเถระเช่นกัน

        พระเถระรับแล้ว นำกลับไปวิหาร ท่านได้น้อมถวายบิณฑบาตแด่พระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงรับแต่พอยังอัตภาพเท่านั้น ข้าวยาคูส่วนที่เหลือก็ทรงให้แจกจ่ายแก่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป หลังจากนั้น พระเถระทูลถามถึงวิบากกรรมของนายกากวฬิยะ พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า อีก ๗ วันนับจากนี้เขาจักได้เป็นเศรษฐีประจำเมือง หลังจากมหาทุคตะกากวฬิยะ และภรรยาได้ถวายทานครั้งนั้นแล้ว ต่างระลึกถึงทานกุศลด้วยจิตที่เบิกบานทุกครั้งไป ยิ่งนึกถึงบุญบ่อยๆ ดวงบุญในตัวก็ยิ่งโตขึ้น สว่างไสวขึ้นไปเรื่อยๆ

        วันหนึ่ง พระราชาเสด็จเลียบพระนครทอดพระเนตรเห็นบุรุษนั่งอยู่บนหลาวเพื่อรอการประหารชีวิตอยู่ที่นอกพระนคร บุรุษเห็นพระราชาจึงตะโกนทูลว่า “ข้าแต่สมมติเทพ ก่อนที่ข้าพระองค์จะตาย ขอพระองค์ได้โปรดส่งอาหารที่พระองค์เสวยมาให้ข้าพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า” ด้วยความสงสารนักโทษคนนั้น พระราชาจึงรับปากว่าจะส่งอาหารมาให้ เพื่อให้เขาได้สมปรารถนาก่อนถูกประหารชีวิต

        ตกเย็น พวกเจ้าพนักงานเตรียมพระกระยาหารมาให้พระราชาเสวย พระองค์ทรงระลึกถึงสัญญาที่ให้ไว้กับนักโทษประหาร จึงตรัสว่า “พวกเจ้าจงหาคนที่สามารถนำอาหารนี้ไปส่งให้นักโทษที่อยู่นอกเมืองคนนั้น” เนื่องจากนอกพระนครเต็มไปด้วยอันตราย โดยเฉพาะอมนุษย์ และยักษ์กินคน ถึงแม้ราชบุรุษจะว่าจ้างด้วยทรัพย์ถึงพันหนึ่ง ก็ไม่มีใครกล้าเอาชีวิตไปเสี่ยง เพื่อแลกกับเงินหนึ่งพันกหาปณะ ฝ่ายภรรยาของนายกากวฬิยะอยากได้เงินมาจุนเจือครอบครัว จึงปลอมตัวเป็นชายหนุ่ม รับอาสานำอาหารไปให้นักโทษคนนั้น โดยไม่หวั่นไหวต่อภยันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

        ขณะที่นางจะเดินเข้าไปสู่แดนประหารนั้น ยักษ์ชื่อทีฆตาละ ได้ตวาดขู่นางว่า “หยุด เจ้าตกเป็นอาหารของเราแล้ว” นางตอบสวนไปด้วยความองอาจว่า “เราไม่ได้เป็นอาหารของท่าน เราเป็นราชทูตนำอาหารไปให้นักโทษ” ยักษ์เห็นว่าบุรุษผู้นี้เป็นผู้มีใจงดงาม จึงกล่าวว่า “เราจะไม่กินเจ้าก็ได้ หากเจ้าสามารถนำข่าวไปบอกสุมนเทพว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ ผู้เป็นภริยาของทีฆตาลยักษ์คลอดบุตรเป็นชายแล้ว เราถูกสุมนเทพทำโทษ ไม่ให้เข้าสู่สมาคมยักษ์ หากเจ้าทำให้สุมนเทพยกโทษให้เราได้ เจ้าจะรอดตาย และเราจะยกขุมทรัพย์ ๗ ขุมนี้ให้แก่เจ้า”

        เมื่อเห็นว่าไม่มีทางหลีกเลี่ยง นางจำต้องรับปากโดยพยายามนึกถึงบุญที่ได้ทำไว้กับพระมหากัสสปเถระ และศีลที่รักษาไว้ดีแล้ว ให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง ให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลาย เมื่อนางไปถึงก็ได้ป่าวร้องว่า “นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ คลอดบุตรเป็นชายแล้ว”

        สุมนเทพนั่งอยู่ในสมาคมยักษ์ ได้ยินข่าวดีนี้ รู้สึกดีใจมาก จึงสั่งให้ยักษ์บริวารเรียกนางเข้ามา เมื่อได้สนทนากับนางแล้ว ก็เกิดความประทับใจ นึกเลื่อมใสในความองอาจของนาง จึงกล่าวว่า “ขุมทรัพย์ในปริมณฑลที่ร่มเงาของต้นไม้นี้แผ่ไปถึง เรายกให้เจ้าทั้งหมด” นางได้ตรวจดูขุมทรัพย์ทั้ง ๗ ขุมด้วยความดีใจยิ่งนัก

        หลังจากนางส่งอาหารให้นักโทษประหารแล้ว ก็กลับเข้าไปในพระนคร กราบทูลเรื่องราวที่เกิดขึ้นถวายพระราชา พอรุ่งเช้าพระราชาให้ขนทรัพย์ทั้งหมดเข้ามาในพระนคร ทรงเห็นว่าทรัพย์ทั้งหมดนี้เป็นของนางกับสามี จึงตั้งสามีของนางให้เป็นมหาเศรษฐีประจำพระนครตั้งแต่นั้นมา

        จะเห็นได้ว่า บุญเพียงน้อยนิดอย่าคิดว่าไม่สำคัญ และบาปแม้น้อยนิด จงอย่าคิดทำ เพราะจะกลายเป็นวิบากติดตัวเราไปข้ามชาติ คอยขัดขวางให้เราเสียเวลาในการสร้างความดี ส่วนบุญแม้นิดหน่อยให้ทำเถิด ทำบ่อยๆ ยิ่งถ้าทำมากๆ และทำด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ก็จะยิ่งมีอานุภาพในการดึงดูดทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ให้มาใช้สร้างบารมีเหมือนกับท่านกากวฬิยเศรษฐี ที่เมื่อทำบุญแล้ว บุญใหม่ก็ไปเชื่อมกับบุญเก่า ไปดึงดูดทรัพย์มา  ทรัพย์สมบัติก็บังเกิดขึ้นอย่างเป็นอัศจรรย์ สมบัติเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะอยู่กับเราได้ตลอดก็ต่อเมื่อเรามีบุญมากเท่านั้น จึงจะครอบครองได้ ถ้าหมดบุญก็หมดสิทธิ์ สมบัติจะเปลี่ยนมือทันที ดังนั้น ให้หมั่นสั่งสมบุญให้มากๆ ทั้งทาน ศีล และภาวนา

-

Contact Us


09.00 – 17.00
วันจันทร์ - วันศุกร์

WBGF © 2024. All Rights Reserved.