การเดินทางไกลในสังสารวัฏ จำเป็นต้องมีเสบียงบุญติดตัว ถ้าเสบียงบุญมาก การดำเนินชีวิตจะสะดวกสบาย ไม่ต้องวิตกกังวลในการแสวงหาปัจจัย ๔ มาเลี้ยงชีพ บุญกุศลที่เราได้ทำไว้ดีแล้ว จะเป็นเสบียงใหญ่ให้เราสร้างบารมีอย่างมีความสุข
ดังนั้นบุญจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะบุญอยู่เบื้องหลังของ ความสุขและความสำเร็จทุกอย่าง เมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่ ต้องสร้างสั่งสมบุญบารมีให้เต็มที่ อย่าให้ขาดแม้แต่วินาทีเดียว ทั้งการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำไปพร้อมๆ กัน เพื่อบุญบารมีของเราจะได้เพิ่มพูนขึ้นทุกวันทุกคืน โภคทรัพย์สมบัติจะได้บังเกิดขึ้น เพื่อไว้ใช้สร้างบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป สิ่งที่ดีมีสิริมงคล ทั้งหลายจะได้บังเกิดขึ้น รวมถึงการบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องอาศัยอานุภาพแห่งบุญทั้งสิ้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สิริชาดก ว่า
“ยํ อุสฺสุกฺกา สงฺฆรนฺต อลกฺขิกา พหุํ ธนํ
สิปฺปวนฺโต อสิปฺปา วา ลกฺขิกา ตานิ ภุญฺชเร
สพฺพตฺถ กตปุญฺญสฺส อติจฺจญฺเญว ปาณิโน
อุปฺปชฺชนฺติ พหู โภคา อปิ นายตเนสุปิ
ผู้ไม่มีบุญ จะเป็นผู้มีศิลปะหรือไม่มีก็ตาม ย่อมขวนขวายรวบรวมทรัพย์ไว้เป็นอันมาก ผู้มีบุญเท่านั้น ย่อมใช้สอยทรัพย์สมบัติเหล่านั้น โภคะเป็นอันมากที่เกิดขึ้นมา ย่อมล่วงเลยสัตว์ผู้ไม่มีบุญ ส่วนผู้สั่งสมบุญไว้อย่างดีแล้ว รัตนะทั้งหลายก็บังเกิดขึ้น แม้ในที่มิใช่บ่อเกิด
ผู้ที่สั่งสมบุญเป็นประจำจะไม่มีวันตกต่ำ มีแต่จะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เราคงจำท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกันได้ ท่านเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญที่ใช้เงินปูเรียงจนเต็มพื้นที่สวนของเจ้าเชต เพื่อจะเอาสวนนั้นมาสร้างเป็นวัด ถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ สถานที่แห่งนั้นได้ชื่อว่า เชตวันมหาวิหาร ซึ่งมีชื่อตามเจ้าของที่ดินเดิม
*ตลอดชีวิตของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ไม่มีวันใดที่ว่างเว้นจากการสร้างความดี ตื่นขึ้นมาตอนเช้าได้ทำบุญตักบาตร บางทีท่านก็เดินไปวัดพระเชตวัน นำข้าวยาคูไปถวายพระภิกษุสามเณร ตอนเย็นก็เข้าไปฟังธรรม พร้อมนำน้ำปานะไปถวายพระภิกษุสามเณร สองมือของท่านจะมีของถวายทานติดมือไปวัดทุกครั้ง ไม่เคยเข้าวัดมือเปล่า สั่งสมบุญอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด แม้บางช่วงท่านจะประสบกับปัญหาเศรษฐกิจเงินทองไม่คล่องตัว ถวายทานได้แค่น้ำผักดองกับข้าวปลายเกรียน แต่ท่านยังคงทำบุญไม่หยุด ทำไปตามกำลังในขณะนั้น ถึงแม้เงินทองของท่านจะลดลง แต่ศรัทธาในใจท่านไม่เคยลดลง แม้มีทรัพย์น้อยแต่มากด้วยศรัทธา ตั้งมั่นเป็นอจลศรัทธาทีเดียว
.
*มก. สิริชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๒๗๓