ต้องใส่ดอกไม้ ธูปเทียนหรือเปล่า
ดอกไม้หรือพวงมาลัยที่ญาติโยมถวายมาตอนใส่บาตรพระมักนำไปบูชาพระพุทธรูปที่วัดต่อ ถ้าไม่มีส่วนใหญ่ท่านก็ได้เดือดร้อนที่จะต้องไปหามาจัดบูชา ดังนั้นเราจะถวายด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่ศรัทธา ส่วนธูปเทียนนั้นมีความจำเป็นน้อย โดยเฉพาะหลังจากมีข่าวว่าควันธูปอันตรายต่อสุขภาพทำให้จุดธูปกันน้อยลง ส่วนเทียนเล่มเล็ก ๆ ที่จัดมาคู่กับธูปในกล่องแทบจะไม่มีโอกาสได้ใช้เลย จึงไม่จำเป็นต้องซื้อมาถวายให้สิ้นเปลืองเปล่า ๆ
ต้องใส่น้ำหรือไม่
ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องใส่น้ำเมื่อใส่บาตร หลายคนใส่น้ำเพราะกังวลว่าจะไม่มีน้ำดื่มในภพชาติต่อไป แม้พุทธศาสนาจะสอนให้เชื่อหลักกรรมแต่ไม่ได้หมานความว่าใส่บาตรด้วยน้ำจึงจะมีน้ำดื่มในชาติหน้า บุญกุศลเป็นเรื่องของความดีงามของกาย วาจา ใจ ที่เราทำ ไม่ได้ใช้ตรรกะตรงไปตรงมาเหมือนทางโลก มิฉะนั้นแล้วเราคงต้องใส่เสื้อผ้า ใส่รองเท้า โทรศัพท์มือถือ รวมถึงบุหรี่ เหล้า และอะไรอีกมากมายที่จำเป็นต่อชีวิตภายหน้าลงในบาตรด้วย การใส่น้ำนอกจากเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นภาระให้พระต้องถือกลับวัด วัดส่วนใหญ่มักมีระบบเก็บน้ำไว้ดื่มไว้ฉันกันอยู่แล้ว (มีตั้งแต่ใส่โอ่งใส่แท้งค์ หรือมีเครื่องกรองน้ำ) น้ำใส่บาตรเป็นขวดหรือแก้วเล็ก ๆ จึงไม่ค่อยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ แถมยังเพิ่มขยะพลาสติกให้สิ่งแวดล้อมด้วย สำหรับวัดที่ยังไม่มีระบบเก็บน้ำดื่มที่ดี ควรช่วยการจัดทำขึ้นจะคุ้มค่ากว่าซื้อน้ำหรือให้โยมใส่บาตรน้ำด้วย
ควรใส่ปัจจัยด้วยไหม
โดยพระวินัยแล้ว พระต้องไม่รับปัจจัย (เงิน) จากญาติโยมไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ๆ และโยมก็ไม่ควรถวายปัจจัยแก่พระไม่เว้นแม้ขณะบิณฑบาต แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะวัดในเมืองที่ไม่มีระบบดูแลอุปัฏฐากพระ เช่น ไม่มีโยมติดตามช่วยเหลือดูแลขณะที่ท่านเดินทาง หรือคอยจัดหาสิ่งจำเป็นให้ ขณะเดียวกันพระเณรก็มีกิจที่จำเป็นต้องใช้เงินมากขึ้น เช่น ไปศึกษาเล่าเรียนนอกวัด หรือใช้เมื่อเดินทาง ทุกวันพระจำนวนมาก (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) จึงรับและถือปัจจัยไว้ใช้ส่วนตัว ส่วนโยมเองก็คิดว่าการถวายปัจจัยท่านจะได้ซื้อของตรงที่ตรงกับความต้องการใช้ หรืออาจเห็นว่าท่านบิณฑบาตรได้อาหารมากแล้ว ทุกวันนี้นอกเหนือจากใส่อาหารหวานคาวในบาตรแล้ว ญาติโยมส่วนหนึ่งจึงนิยมใส่ปัจจัยของพระแต่ละรูปหรือแต่ละวัดอาจมีเงื่อนไขต่างกัน บางแห่งท่านจะไม่รับเลย ถ้าท่านรู้ว่ามีปัจจัยอยู่ด้วยท่านก็จะบอกให้นำออกไปก่อน บ้างก็ให้มอบให้ลูกศิษย์ที่ตามมา บ้างก็ไหว้วางบนฝาบาตร อย่างไรก็ตามไม่ควรใส่เหรียญหรือธนบัตรลงไปปนกับอาหารในบาตร และจะเกื้อหนุนต่อพระวินัยมากขึ้น หากญาติโยมกับวัดช่วยกันหาวิธีดูแลพระให้ท่านอยู่อย่างเดือดร้อนและไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยเลย
ถวายสังฑทานด้วยเลยได้หรือไม่
โดยหลักการแล้วการใส่บาตรเป็นการถวายทานแบบจำเพาะเจาะจงต่อพระรูปที่เราใส่ ส่วนการถวายสังฆทานเป็นการตั้งใจถวายทานนั้นต่อสงฆ์ไม่จำเพาะว่าจะให้แก่ภิกษุรูปใดแม้ว่าขณะถวายสังฆทานนั้นอาจมีภิกษุเพียงรูปเดียวออกมาเป็นตัวแทนรับก็ตาม โดยทั่วไปแล้วเราไม่ควรถวายสังฆทานขณะใส่บาตรเนื่องจากการถวายมีหลายขั้นตอนต้องใช้เวลาพอสมควรทำให้ผู้ที่รอใส่บาตรต่อต้องเสียเวลารอนาน และเป็นภาระต่อพระรูปนั้น ที่ต้องนำอาหารและของบริวารที่ได้มาแจกจ่ายให้พระรูปอื่นในวัด ควรหาโอกาสถวายสังฆทานที่วัดโดยตรงจะเหมาะสมกว่า
ถวายยา สมุด ปากกาตอนใส่บาตรได้ไหม
ระยะหลังมีญาติโยมจำนวนหนึ่งถวายสิ่งของที่ไม่ใช่อาหารขณะใส่บาตรด้วย เช่น ยาดม ยาแก้หวัด ชุดเครื่องเขียน เป็นต้น ซึ่งเป็นความปราถนาดีที่จะให้พระได้มีของเหล่านี้ไว้ใช้และไม่ได้ผิดพระวินัยที่พระจะรับ แต่โดยประเพณีแล้วบาตรของพระจะไว้รองรับเฉพาะอาหารและวัตถุประสงค์หลักของการออกบิณฑบาตคือไปรับอาหารจากโยม กรณีเช่นนี้การวางที่ฝาบาตรอาจช่วยให้พระบางรูปที่ท่นถือปฏิบัติเคร่งครัดสะดวกใจที่จะรับยิ่งขึ้น หรืออาจมอบให้ลูกศิษย์ หรือนำไปถวายเป็นสังฆทานที่วัดจะเหมาะกว่า รูปที่ท่านจำเป็นต้องใช้จะได้เบิกไปใช้ รูปที่เราใส่บาตรท่านอาจไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้
อยากช่วยพระถือของบิณฑบาตได้หรือเปล่า
อาการใส่อาหารลงในบาตรถือเป็นการประเคนอาหารนั้นให้พระแล้วท่านสามารถนำไปฉันได้เลย เว้นเสียแต่ว่ามีใครมาจับต้องอาหารนั้นอีก จะต้องมีการประเคนซ้ำพระจึงจะฉันได้ ดังนั้นการช่วยจับช่วยถืออาหารที่บิณฑบาตได้มาไม่ว่ากรณีใด ๆ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่จำเป็นต้องประเคนท่านอีกครั้งหนึ่งก่อนท่านจึงจะนำอาหารนั้นไปฉันได้ เว้นแต่ว่าท่านมีสามเณรหรือศิษย์ช่วยประเคนอยู่ที่วัด
เผลอไปถูกมือหรือจีวรพระขณะใส่บาตร
ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกกังวล เมื่อพลาดไปโดนจีวรหรือมือพระขณะบิณฑบาตร เกรงว่าจะทำให้พระต้องอาบัติ หากการกระทำนั้นไม่ได้มีเจตนาทั้งของพระและโยมก็ไม่ได้มีผลให้พระต้องอาบัติ แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าต่อไปไม่ต้องระมัดระวังในเรื่องนี้อีก เพราะหากขณะใส่บาตรเราตั้งใจทำด้วยอาการสำรวมมีสติรักษากายใจความพลั้งเผลอย่อมเกิดขึ้นได้น้อย
พระยืนรอหน้าร้านขายอาหาร
อานิสงส์ของทานจะมีมากขึ้นส่วนหนึ่งนั้นขึ้นอยู่กับผู้รับทานด้วย แม้เป็นเรื่องยากที่เราจะไปรู้ว่าพระที่เราจะใส่บาตรรูปนั้นปฏิบัติดีปฏบัติชอบเพียงใด แต่พระวินัยระบุไว้อย่างชัดเจนให้พระเข้าสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตโดยอาการสำรวมทั้งเรื่องการนุ่งห่ม การเดิน การทอดสายตา การรับบาตร และอื่น ๆ หากปรากฏอย่างชัดเจนว่าพระออกบิณฑบาตโดยอาการไม่สำรวม เช่น เดินคุยกันเป็นกลุ่ม แย่งกันรับบาตร เรียกร้องให้นำอาหารดี ๆ มาใส่บาตร รวมถึงการยืนรอประจำอยู่ที่ร้านขายกับข้าว การรับบาตรก่อนสว่างหรือบิณฑบาตไปจนสายมาก การนำกับข้าวเวียนไปให้แม่ค้าขายใหม่ หรือนำกับข้าวที่ได้ไปขายต่อ เป็นต้น การไม่ใส่บาตรพระรูปนั้น หรือแม้แต่ไปบอกเตือนท่าน เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรทำไม่ได้เป็นเรื่องบาปกรรมแต่กลับเปฌนบุญกุศลเพราะเรากำลังทำหน้าที่ของชาวพุทธที่เราต้องช่วยกันดูแลปกป้องพระศาสนา ไม่ให้ใครบางคนมาทำให้ศาสนามัวหมองหรือถูกตำหนิ
ต้องทำให้พระจำได้
อาจเป็นเพราะความไม่ชัดเจนในหลักพุทธศาสนาผนวกกับการไม่คุ้นเคยกับวัด ทุกวันนี้เมื่อมีคำแนะนำพิธีกรรมแปลก ๆ ใหม่ เกิดขึ้นแล้วผู้คนมักเชื่อและนำมาปฏบัติโดยขาดการไตร่ตรอง จนอาจทำให้เกิดความไม่เหมาะสมในการทำบุญ เช่น การแนะนำว่าหากต้องการได้บุญมากต้องทำให้พระท่านจำได้ว่าเรามาทำบุญ ถ้าใส่บาตรเสร็จให้ลงไปกราบพื้นทันที หรืออานิสงฆ์จะมีมากเฉพาะขณะที่ทำบุญ ดังนั้นขณะที่วางของลงในบาตรจะขออธิษฐานอะไรก็ทำขณะนั้นเลย แท้ที่จริงแล้วความมีสติอยู่กับการทำคุณงามความดีนั้นเลย แท้ที่จริงแล้วความมีสติ มีจิตใจที่ใสนิ่งย่อมก่อให้เกิดและรองรับบุญกุศลได้มากกว่าจิตใจที่ว้าวุ่นเต็มไปด้วยความอยากหรือการขอ และไม่ได้เกี่ยวข้องเลยว่าพระจะต้องจำเราได้หรือไม่ ความมากน้องของบุญที่จะได้อยู่ที่การวางจิตวางใจใส่บาตรมากกว่า
ในโอกาสที่ต่างกัน จะใส่บาตรเหมือนกันหรือเปล่า
เมื่อเป้าหมายของการใส่บาตรคลาดเคลื่อนจากการฝึกตนให้รู้จักสละ รู้จักให้ เพื่อเกื้อหนุนพระภิกษุ และบำรุงพระศาสนา ไปสู่การตอบสนองความอยากความต้องการให้ตนเองได้รับโชค รับชัย แคล้วคลาดจากอุบัติภัยต่าง ๆ ฯลฯ การใส่บาตรในโอกาสที่ต่างกันจึงคาดหวังว่าควร ต้องมีอะไรที่ต่างกัน หลายคนจึงมักบอกวัตถุประสงค์ให้พระรู้ก่อนหรือหลังใส่บาตร เช่น “วันนี้เป็นวันเกิดโยมเจ้าค่ะ” “วันครบรอบปี คุณแม่เสียครับ” พระบางรูปก็อาจฉลองศรัทธาให้ศีลให้พรหรือคำแนะนำเพิ่มเติมบ้าง แต่ส่วนใหญ่ท่านก็ทำกิจไม่ต่างจากเดิมนัก จุดสำคัญของการตักบาตรในโอกาสพิเศษเหล่านี้น่าจะอยู่ที่การให้มีโอกาสทำสิ่งที่ดีงาม ได้พบกับผู้ทรงศีล ได้รับความสงบเย็นแต่เช้า ก่อนที่จะไปเผชิญกับเรื่องราวอื่น ๆ อีกตลอดทั้งวัน กับการได้ระลึกนึกถึงผู้ล่วงลับและอุทิศส่วนกุศลไปใหท่านมากกว่า
เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ทักขิณาทานชื่อว่าน้อยย่อมไม่มี
ขุ. วิมาน 26/82
ข้อมูล : พระวิชิต ธมมชิโต วัดโพธิ์เผือก จ.นนทบุรี